ในการทำธุรกิจออนไลน์หรือการขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต การมีเว็บไซต์หรือแฟนเพจ (fanpage) เป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะเปรียบเสมือนเป็นหน้าร้านที่ลูกค้าจะเข้ามาเลือกซื้อสินค้า แต่การมีเว็บไซต์หรือแฟนเพจเพียงอย่างเดียว โดยละเลยเรื่องการทำ SEO ก็เหมือนเป็นการเสียเวลาและเงินลงทุนไปเปล่า ๆ โดยไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย
การทำธุรกิจออนไลน์ การทำ SEO มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะการทำ SEO จะช่วยก่อให้เกิด traffic ตามธรรมชาติ นำพาผู้คนมาสู่เว็บไซต์ ไม่ต้องลงทุนจายเงินค่าโฆษณาออนไลน์ และเมื่อมีคนเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์มากขึ้น โอกาสที่คนเหล่านั้นจะเห็นสินค้าและบริการก็ย่อมมากขึ้น โอกาสในการขายก็เพิ่มขึ้นตาม
การวิจัยคีย์เวิร์ด (keyword research)
คีย์เวิร์ด (keyword) คือ คำหรือวลีที่ผู้คนใช้ค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต อาจเป็นคำสั้น ๆ ไม่กีพยางค์หรืออาจยาวเป็นประโยค (long tail keyword) ก็ได้ ซึ่งการวิจัยและกำหนดคีย์เวิร์ดนั้น ถือว่าเป็นแกนหลักและมีความสำคัญที่สุดในการทำ SEO เพื่อทำให้เว็บไซต์ที่เปรียบเสมือนหน้าร้านออนไลน์ติดอันดับในหน้าผลการค้นหาของ search engine โดยเฉพาะ Google ซึ่งเป็น search engine ยอดนิยมของผู้คนทั่วโลก
การวิจัยคีย์เวิร์ด (keyword research) เป็นการค้นหาคีย์เวิร์ดที่ผู้คนนิยมใช้ค้นหาสิ่งที่ต้องการ เป็นคีย์เวิร์ดที่มีจำนวนการค้นหาสูง และที่สำคัญควรเป็นคีย์เวิร์ดที่มีคู่แข่งในการทำ AdWords น้อย เพื่อใช้คีย์เวิร์ดนั้น ๆ มาใช้ในการทำ search engine marketing (SEM)
นอกจากการพยายามค้นหาคีย์เวิร์ดที่มีลักษณะดังกล่างข้างต้นแล้ว การใช้คีย์เวิร์ดประเภท long tail keyword ที่มักมีความยาว ก็มีประสิทธิภาพสูงสำหรับงาน SEM อยู่พอสมควร ถึงแม้ว่าจะเป็นคำหรือวลีที่ผู้คนใช้กันไม่เยอะ แต่ก็ยังพอมี traffic ที่สามารถพาผู้คนมายังเว็บไซต์ได้
หลักการทำงานของ Google
การเข้าใจหลักการทำงานของ search engine โดยเฉพาะ Google ซึ่งเป็นเครื่องมือค้นหาข้อมูลยอดนิยม จะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจในกระบวนการทำ SEO ให้กับเว็บไซต์มากยิ่งขึ้น โดยหลักการคร่าว ๆ ของ Google สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่
- การออกเก็บข้อมูลเว็บไซต์ของ Google รวมถึง search engine อื่น ๆ จะใช้หุ่นยนต์ (Bot) หรือ Google Bot ในกรณีของ Google ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์วิ่งไปตามเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยอาศัยลิงค์ที่แต่ละเว็บไซต์เชื่อมโยงหากัน ในขณะเดียวกัน Google Bot ก็จะวิเคราะห์เนื้อหาในหน้าเว็บนั้น ๆ และค้นหาว่าเว็บไซต์นั้นมีคีย์เวิร์ดเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง
- เมื่อได้ข้อมูลจากการวิเคราะห์เว็บไซต์ต่าง ๆ แล้ว ข้อมูลดังกล่าวก็จะถูกนำมาเก็บในฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือเรียกว่าการอินเด็กซ์ (indexing) ซึ่งกระบวนการนี้จะใช้อัลกอริทึม (algorithm) ต่าง ๆ เพื่อที่จะจัดอันดับเว็บไซต์ที่มีอยู่นับพันล้านเว็บเข้าเป็นหมวดหมู่
- เมื่อผู้ใช้งาน search engine ทำการค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดที่ต้องการ Google ก็จะแสดงผลหน้าเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดนั้น ๆ ออกมาในหน้าผลการค้นหา (SERP) ซึ่งอันดับของเว็บไซต์ต่าง ๆ ว่าจะมากจะน้อย ก็จะขึ้นอยู่กับอัลกอริทึมที่ใช้ปัจจัยต่าง ๆ กว่า 200 ปัจจัยเข้ามากำหนด
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการทำ SEO
การทำ SEO ให้ประสบความสำเร็จนั้น มีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ มากมาย ซึ่งส่วนมากแล้วจะเกี่ยวข้องกับศัพท์เฉพาะทาง ซึ่งอาจเข้าใจได้ยากอยู่บ้าง แต่เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจในการทำ SEO สามารถจัดปัจจัยที่ส่งผลต่อคะแนน SEO ได้ออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ ๆ ได้แก่
โครงสร้างของเว็บไซต์ (Structure)
โครงสร้างของเว็บไซต์นั้นว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อ SEO เป็นอย่างมาก การออกแบบโครงสร้างภายในของเว็บไซต์ให้มีรายละเอียดต่าง ๆ ตามที่ Google กำหนดนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ URL, meta tile หรือ meta description จะส่งผลต่อคะแนน SEO และอันดับที่จะถูกจัดอันดับ ในกรณีที่มีการออกแบบเว็บไซต์เอง นักพัฒนาเว็บไซต์อาจต้องทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้าน SEO เพื่อทำให้โครงสร้างของเว็บไซต์มีความเหมาะสมกับ SEO และข้อกำหนดต่าง ๆ มากที่สุด แต่ถ้าใช้ระบบ CMS (content management system) ซึ่งเป็นระบบเว็บไซต์สำเร็จรูป มีการวางโครงสร้างต่าง ๆ อย่างถูกต้องเหมาะสมสอดคล้องกับหลัก SEO ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องพะวงกับปัญหาเรื่องโครงสร้างของเว็บไซต์เลย การเก็บข้อมูลของ Google Bot ก็จะครบถ้วน ส่งผลดีต่ออันดับในหน้าการค้นหา โดยตัวอย่างของ CMS ยอดนิยม ได้แก่ WordPress, Joomla และ Drupal
เนื้อหาบนเว็บไซต์ (Content)
เนื้อหาของเว็บไซต์เป็นสิ่งที่ผู้ใช้งาน search engine ต้องการมากที่สุด ถ้าเว็บไซต์มีเนื้อหาดี มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ น่าสนใจ เป็นที่ต้องการของผู้อ่าน และที่สำคัญควรเป็นสาระความรู้ที่สดใหม่ไม่ซ้ำใคร ก็จะทำให้ผลการค้นของเว็บไซต์นั้นสูงขึ้น ทำให้คนเข้าชมเว็บไซต์มากขึ้น โอกาสต่าง ๆ ในโลก ecommerce ก็จะเพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้าเนื้อหาในเว็บไซต์สั้นเกินไป หรือเป็นเนื้อหาที่ซ้ำกับเว็บไซต์อื่น ๆ เป็นเนื้อหาที่ถูกดัดแปลงและทำซ้ำ ความน่าสนใจน้อย หรือไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งาน search engine และ Google ไม่ต้องการ อันดับของเว็บไซต์ก็จะตกลงไป
การลิงค์และอ้างอิงจากเว็บไซต์อื่นๆ (Backlinks)
ความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์และข้อมูล อาจสามารถวัดได้โดยจำนวน backlinks หรือจำนวนลิงค์จากเว็บไซต์อื่น ๆ ที่ชี้กลับมาที่เว็บไซต์ ซึ่งจำนวน backlinks นั้นส่งผลต่อความน่าเชื่อถือโดยตรง เว็บไซต์ที่มีจำนวน backlinks มาก ๆ มักจะได้คะแนนน SEO สูง ซึ่งเว็บเหล่านี้มักเป็นเว็บไซต์ที่มีคุณภาพ เนื้อหาได้รับการยอมรับ มีการทำอ้างอิงหรือ reference กลับมา แต่ในขณะเดียวกัน การสร้าง backlinks โดยธรรมชาติก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงทำให้เกิดการสร้าง backlinks ที่ผิดกฎเกณฑ์ของ Google ซึ่งเป็นที่นิยมในการทำ SEO สายดำ